วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2555


กฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศ

            ถึงแม้ว่าในปัจจุบันบางประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีกฎหมายควบคุมสื่ออินเทอร์เน็ต ก็ยังไม่สามารถควบคุมภัยล่อลวงต่าง ๆ จากสื่ออินเทอร์เน็ตได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างเด็ดขาดเต็มที่โดยเฉพาะควบคุมดูแลการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารบนสื่ออินเทอร์เน็ตนั้นก็ยังเป็นปัญหา โดยเฉพาะการเผยแพร่สื่อสารลามกหรือบ่อนการพนัน

            ซึ่งปัญหาดังกล่าว นอกจากจะเกี่ยวข้องกับสิทธิส่วนบุคคลในการเข้าถึงข้อมูล การก้าวก่ายสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชน ยังอาจจะขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศอีกด้วย อีกทั้งลักษณะพิเศษของข้อมูลต่าง ๆ ที่อยู่ในเครือข่ายอินเทอร์เน็ต  เป็นเครือข่ายที่มีลักษณะเป็นใยแมงมุม  ซึ่งระบบกระจายความรับผิดชอบไม่มีศูนย์กลางของระบบ และเป็นเครือข่ายข้อมูลระดับโลกยากต่อการควบคุม และเป็นสื่อที่ไม่มีตัวตน หรือแหล่งที่มาที่ชัดเจน ทั้งผู้ส่งข้อมูล หรือผู้รับข้อมูล
             ดังนั้นกฎหมายที่จะมากำกับดูแล หรือควบคุมสื่ออินเทอร์เน็ต จะต้องเป็นกฎหมายลักษณะพิเศษ เป็นที่ยอมรับในระดับสากล  แต่ความแตกต่างในระบบการเมือง สังคม และวัฒนธรรม ในแต่ละ
ประเทศยังเป็นปัญหาอุปสรรค  ในการร่างกฎหมายดังกล่าวซึ่งปัจจุบันยังไม่ปรากฏผลเป็นกฎหมายยังคงอยู่ในระยะที่กำลังสร้างกฎเกณฑ์กติกาขึ้นมากำกับบริการอินเทอร์เน็ต

ประเทศไทยกับการพัฒนากฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศ
            กฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศไทยเริ่มวันที่
 15 ธันวาคม 2541 โดยคณะ กรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติเรียก (กทสช) ได้ทำการศึกษาและยกร่างกฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศ 6ฉบับ ได้แก่
                1. 
กฎหมายเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Transactions Law) 

                        เพื่อรับรองสถานะทางกฎหมายของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ให้เสมอด้วยกระดาษ อันเป็นการรองรับนิติสัมพันธ์ต่าง ๆ ซึ่งแต่เดิมอาจจะจัดทำขึ้นในรูปแบบของหนังสือให้เท่าเทียมกับนิติสัมพันธ์รูปแบบใหม่ที่จัดทำขึ้นให้อยู่ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ รวมตลอดทั้งการลงลายมือชื่อในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และการรับฟังพยานหลักฐานที่อยู่ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
                2. กฎหมายเกี่ยวกับลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Signatures Law)
                        เพื่อรับรองการใช้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วยกระบวนการใด ๆ ทางเทคโนโลยีให้เสมอด้วยการลงลายมือชื่อธรรมดา อันส่งผลต่อความเชื่อมั่นมากขึ้นในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และกำหนดให้มีการกำกับดูแลการให้บริการ เกี่ยวกับลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ตลอดจนการให้ บริการอื่น ที่เกี่ยวข้องกับลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์

                3. กฎหมายเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศให้ทั่วถึง และเท่าเทียมกัน (National Information Infrastructure Law) 

                        เพื่อก่อให้เกิดการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศ อันได้แก่ โครงข่ายโทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศ สารสนเทศทรัพยากรมนุษย์ และโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศสำคัญอื่น ๆ อันเป็นปัจจัยพื้นฐาน สำคัญในการพัฒนาสังคม และชุมชนโดยอาศัยกลไกของรัฐ ซึ่งรองรับเจตนารมณ์สำคัญประการหนึ่งของแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 78 ในการกระจายสารสนเทศให้ทั่วถึง และเท่าเทียมกัน และนับเป็นกลไกสำคัญในการช่วยลดความเหลื่อมล้ำของสังคมอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อสนับสนุนให้ท้องถิ่นมีศักยภาพในการปกครองตนเองพัฒนาเศรษฐกิจภายในชุมชน และนำไปสู่สังคมแห่งปัญญา และการเรียนรู้
                4.
 กฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Data Protection Law)
                           
เพื่อก่อให้เกิดการรับรองสิทธิและให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งอาจถูกประมวลผล เปิดเผยหรือเผยแพร่ถึงบุคคลจำนวนมากได้ในระยะเวลาอันรวดเร็วโดยอาศัยพัฒนาการทางเทคโนโลยี จนอาจก่อให้เกิดการนำข้อมูลนั้นไปใช้ในทางมิชอบอันเป็นการละเมิดต่อเจ้าของข้อมูล ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงการรักษาดุลยภาพระหว่างสิทธิขั้นพื้นฐานในความเป็นส่วนตัว เสรีภาพในการติดต่อสื่อสาร และความมั่นคงของรัฐ
                5. กฎหมายเกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (Computer Crime Law)
                           
เพื่อกำหนดมาตรการทางอาญาในการลงโทษผู้กระทำผิดต่อระบบการทำงานของคอมพิวเตอร์ ระบบข้อมูล และระบบเครือข่าย  ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองการอยู่ร่วมกันของสังคม
                6. กฎหมายเกี่ยวกับการโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Funds Transfer Law)

                          เพื่อกำหนดกลไกสำคัญทางกฎหมายในการรองรับระบบการโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งที่เป็นการโอนเงินระหว่างสถาบันการเงิน และระบบการชำระเงินรูปแบบใหม่ในรูปของเงินอิเล็กทรอนิกส์ก่อให้เกิดความเชื่อมั่นต่อระบบการทำธุรกรรมทางการเงิน และการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มากยิ่งขึ้น

 
กฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศไทย ?

เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับกฎหมายตัวใหม่ที่กำลังจะออกมาใช้บังคับกันในอนาคต ทั้งนี้
สืบเนื่องมาจากในปัจจุบันจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เนตทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย มีอัตราการขยายตัวที่ มากขึ้น และเป็นการเติบโตที่รวดเร็วแบบก้าวกระโดด ซึ่งจะเห็นได้จากจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เนตนับล้านคนในประเทศไทย อีกทั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล(PC: Personal Computer ) ก็ดูเหมือนจะกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนไปซะแล้ว สังเกตุได้จากตามออฟฟิศ สำนักงานต่างๆหรือ แม้แต่ตามบ้านพักอาศัย ล้วนแต่มีคอมพิวเตอร์ไว้ใช้งานด้วยเสมอ ซึ่งดูๆไปแล้วก็ไม่ต่างไปจากเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไป

เมื่อเกิดมีสังคมทางอินเทอร์เนตดังกล่าวขึ้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการบางอย่างเพื่อจะใช้บังคับให้คนในสังคม Cyber อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข เช่นเดียวกับสังคมในชีวิตจริงของเรา โลกจำลองของสังคม Cyber นั้นนับวันยิ่งใกล้เคียงโลกของจริงเข้าไปทุกที ด้วยเหตุนี้จึงเกิดมีกฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศขึ้น

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2539 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบต่อนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ ตามหนังสือที่ นร 0212/2718 โดยมีเป้าหมายหลักคือ การปฏิรูปกฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งได้กำหนดหลักการสำคัญไว้ว่า “รัฐจะต้อง….พัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นและระบบสาธารณูปโภคตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกันทั่วประเทศ

ปัจจุบันประเทศต่างๆทั่วโลกต่างก็มีการตื่นตัวต่อการพัฒนากฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น ในปี คศ. 1997 ประเทศญี่ปุ่นได้ประกาศนโยบาย “ Toward the Age of  Digital Economy “ สหรัฐอเมริกาประกาศนโยบาย “ A Framework for Global Electric Commerce “ และสหภาพยุโรปประกาศนโยบาย “ A European Initiative in Electronic Commerce” เป็นต้น 

นอกจากนั้นองค์การระหว่างประเทศ เช่น องค์การการค้าโลก ( WTO ) และสหประชาชาติ ( United Nation ) ก็ให้ความสนใจจัดให้มีการประชุมเจรจาจัดทำนโยบายและรูปแบบของกฎหมายเกี่ยวกับการพานิชย์อิเล็คทรอนิกส์ไว้ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยจะต้องมีการจัดทำกฎหมายดังกล่าว เพื่อให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานต่อไป

กฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศจึงเกิดขึ้นเนื่องจากความจำเป็นของสังคม (Social Necessity) และเพื่อให้สังคมมีความเป็นปึกแผ่น (Solidality) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็คทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ในฐานะสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ ตระหนักในปัญหาของประเทศชาติและความสำคัญของกฎหมายดังกล่าว จึงได้จัดทำโครงการพัฒนากฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศ ในฐานะที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางกฎหมาย (Legal Infrastructure) โดยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1. กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Data Protection Law) : เพื่อคุ้มครองสิทธิในความเป็นส่วนตัวจากการนำข้อมูลของบุคคลไปใช้ในทางมิชอบ
2. กฎหมายอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ Computer Relate Crime) : เพื่อคุ้มครองสังคมจากความผิดที่เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารอันถือเป็นทรัพย์ที่ไม่มีรูปร่าง (Intangible Object)
3. กฎหมายพาณิชย์อิเล็คทรอนิกส์ (Electronic Commerce) : เพื่อคุ้มครองการทำธุรกรรมทางอินเทอร์เนต
4. กฎหมายการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็คทรอนิกส์ (Electronic Data Interchange : EDI ) : เพื่อที่จะเอื้อให้มีการทำนิติกรรมสัญญาทางอิเล็คทรอนิกส์ได้
5. กฎหมายลายมือชื่ออิเล็คทรอนิกส์ (Electronic Signature Law) : เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่คู่กรณีในอันที่จะต้องพึ่งพาเทคโนโลยีเพื่อการลงลายมือชื่อ
6. กฎหมายการโอนเงินทางอิเล็คทรอนิกส์ (Electronic Funds Tranfer) : เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและสร้างหลักประกันที่มั่นคง
7. กฎหมายโทรคมนาคม (Telecommunication Law) : เพื่อวางกลไกในการเปิดเสรีให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรมและมีประมิทธิภาพ ทั้งสร้างหลักประกันให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการโทรคมนาคมได้อย่างทั่วถึง (Universal Service)
8. กฎหมายระหว่างประเทศ องค์การระหว่างประเทศและการค้าระหว่างประเทศที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ
9. กฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับอินเทอร์เนต
10. กฎหมายพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์

ปัจจุบันได้มีกฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศออกมาประกาศใช้แล้ว 1 ฉบับคือ พระราชบัญญัติธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2545 ซึ่งได้รวมเอากฎหมายพานิชย์อิเล็กทรอนิกส์และกฎหมายลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์เข้าไว้ด้วยกัน โดยกฎหมายดังกล่าวและมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่เมษายน 2545 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวจะเอื้อประโยชน์อย่างมากทั้งต่อตัวผู้กระทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และแก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม เพราะกฎหมายดังกล่าวได้ระบุเรื่องการรับฟังพยานหลักฐานที่อยู่ในรูปของสื่ออิเล็กทรอนิกส์เข้าไว้ด้วย (เดิมปรับใช้จากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง)

ประเด็นสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นของผู้ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศก็คือ การพัฒนากฎหมายเพื่อรองรับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ซึ่งรัฐมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาถึงเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อให้เข้าใจในเบื้องต้น และศึกษาถึงธรรมเนียมประเพณีและสังคมการพาณิชย์ของไทย รวมทั้งปัญหาต่างๆที่มีอยู่ในปัจจุบันที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนากฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศในประเทศไทย

สภาพปัญหาในปัจจุบันคือ กฎหมายไทยไม่เพียงพอที่จะให้ความคุ้มครองทางอิเล็คทรอนิกส์ ทำให้นักธุรกิจและนักลงทุนไม่มั่นใจในการทำการค้าทางอิเล็คทรอนิกส์ เพราะเหตุความไม่มีประสิทธิภาพของระบบและโครงสร้าง ความไม่มั่นใจจากการถูกรบกวนและแทรกแซงจากบุคคลภายนอกผู้ไม่หวังดี รวมถึงความหวาดกลัวต่อการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งมีมากในประเทศของเรา

ประกอบกับผู้ใช้งานยังมีความกังขาในข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสมบูรณ์ของนิติกรรมที่เกิดจากการพานิชย์อิเล็คทรอนิกส์ว่าจะมีผลผูกพันเพียงใด ทั้งจะมีการยอมรับการสืบพยานในศาลได้มากน้อยเพียงใด ดังนั้น กฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อระบบการทำธุรกรรมในประเทศไทยทั้งในปัจจุบันและในอนาคต 


ตัวอย่างของตัวบท-กฎหมาย

"กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล" ยังอีกไกลแต่ต้องไปให้ถึง

ปัจจุบันแนวโน้มของการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์หรืออี-คอมเมิร์ซ ของคนไทยยังไม่แพร่หลาย
หรือเป็นที่นิยมเท่าที่ควร เมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศพบว่าปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญ ประการหนึ่ง
ที่ทำให้การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ยังไม่กระจายไปสู่ประชาชน คือ ประชาชน
ขาดความเชื่อมั่นในการนำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์มาใช้

สาเหตุของการขาดความเชื่อมั่นนี้อาจเกิดขึ้นได้ทั้งจากความไม่มั่นใจ ในความปลอดภัย
ของระบบและความกังวลในเรื่องของ การรักษาความเป็นส่วนตัวและ ความปลอดภัยของ ข้อมูลส่วนบุคคล
"กฎหมาย" จึงกลายเป็นคำตอบสุดท้ายของ การสร้างความมั่นใจ ในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
เพราะกฎหมายเป็นโครงสร้างพื้นฐานทาง สังคมของประเทศ ดังนั้นจึงเป็นที่มาของร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)
ว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ
แต่ว่ากว่าที่ร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้จะได้ฤกษ์คลอดออกมาคงต้องลุ้นกันอีกนาน เพราะขณะนี้
คณะอนุกรรมการและคณะทำงานยกร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
พ.ศกำลังช่วยกันหาข้อสรุปในการนำร่างพ.ร.บ.ฯ ที่ถูกร่างขึ้น 2 ฉบับ
โดยสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการหรือโอไอซี และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหรือ
ไอซีที มาสรุปรวมกันเป็นฉบับเดียว
ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค
ในฐานะเจ้าภาพจัดงาน บอกว่า การจัดสัมมนาครั้งนี้เน้นหนักไปที่การหาข้อสรุปร่วมกัน ในส่วนของหลักการและ
ความคิดเห็นบางส่วนที่ร่างพ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับยังไม่ตรงกัน
นอกจากนั้นเพื่อให้การพิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวในชั้นการพิจารณาของ
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและกระบวนการนิติบัญญัติเป็นไปอย่างรอบคอบ
รวดเร็วและมีเนื้อหาที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น รวมถึงประเด็นปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการบังคับ
ใช้กฎหมายในอนาคต ทั้งนี้เพื่อให้เป็นหลักประกันในการให้ความคุ้มครอง ข้อมูลส่วนบุคคลได้อย่างแท้จริง


ผอ.เนคเทค อธิบายว่า ร่างพ.ร.บ.ของทั้ง
 2 หน่วยงานมีข้อคำนึงที่ใช้ประกอบในการพิจารณา ยกร่างกฎหมายฯ 6
ประการ คือ

1. การคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

2. ความพร้อมและความตื่นตัวของประชาชน

3.การส่งเสริมการประกอบธุรกิจภาคเอกชน

4.การสร้างความสมดุลระหว่างการให้ความคุ้มครองและส่งเสริมการประกอบการ

5.กลไกและความเข้มแข็งในการให้ความคุ้มครองของภาครัฐและ

6.ประสบการณ์ที่เรียนรู้จากประเทศเพื่อบ้านหรือประเทศอื่นๆ โดย

 

เจตนารมณ์ของกฎหมายมี 5 ข้อ คือ

1.เพื่อคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัว อันเป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้

2.เพื่อกำหนดหลักการพื้นฐานในการให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ให้เป็นไป โดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม

3.กำหนดสิทธิของเจ้าของข้อมูลในการเข้าถึง ข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับตน

4.วางกลไกลการกำกับดูแลที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจของ ภาคเอกชน  คุ้มครองประชาชนและในขณะเดียวกันไม่ก่อให้เกิดภาระกับรัฐมากเกินไปและ

5.จัดตั้งองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ ทำหน้าที่กำกับดูแลและตรวจสอบให้มี การปฏิบัติตามกฎหมาย
นายชั่งทอง โอภาสศิริวิทย์ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ หรือโอไอซี อธิบายว่า
ขอบเขตการบังคับใช้กฎหมาย จะต้องคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคลธรรมดา ใช้บังคับกับการเก็บรวบรวม
การประมวลผล การใช้หรือการดำเนินการอื่นใดกับข้อมูลส่วนบุคคล ในเชิงธุรกิจหรือ
การพาณิชย์ที่กระทำด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์และ
วิธีการปกติและไม่ใช้บังคับการประมวลผลและการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว

 

ส่วนบทลงโทษจะลงโทษแก่ผู้ที่ดำเนินการต่างๆ ดังนี้ คือ

1. การทำการใดๆต่อข้อมูลส่วนบุคคลโดยทุจริตหรือเพื่อให้ผู้อื่นเสียหาย

2. เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลโดยมิชอบและ

3.เปิดเผยกิจการของผู้อื่นเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายนี้และ
แก้ไขข้อมูลส่วนบุคคลและทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญ โดยมีทั้งโทษจำคุกและปรับเงิน

ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความคิดเห็นว่า
ความแตกต่างของร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศที่ร่างขึ้นโดยทั้งสองหน่วยงาน คือ
ผู้บังคับใช้กฎหมายและบทลงโทษ โดยในร่างพ.ร.บ.ฯของกระทรวงไอซีทีกำหนดให้เนคเทคเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายในขณะที่ร่างของโอไอซีกำหนดให้ตนเองเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย ซึ่งจุดนี้น่าจะเป็นข้อแตกต่างที่สำคัญประการหนึ่ง แต่ถึงอย่างไรไม่ว่าใครจะเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายสุดท้าย ก็ต้องร่วมมือกันในอนาคต
            "ปัจจุบันโอไอซีก็มีหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่เก็บรวบรวมตามหน่วยงาน ภาครัฐต่างๆอยู่แล้ว ในอนาคตเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้อย่างไรก็ต้องมี หน่วยงานกลางขึ้นมา
ดังนั้นไม่ว่าหน่วยงานกลางดังกล่าวจะเป็นหน่วยงานทั้ง 2 หรือไม่ สุดท้ายก็ต้องร่วมมือกันในการทำงานต่อไป
ทั้งนี้เพราะโอไอซีมีประสบการณ์ ในงานที่ทำอยู่ ส่วนเนคเทคก็มีความเชี่ยวชาญด้านอิเล็กทรอนิกส์
คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีใหม่ๆ"ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม
ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ แสดงความคิดเห็นต่อว่า ร่างพ.ร.บ.ฯ
ของโอไอซีมีบทลงโทษที่รุนแรงและละเอียดกว่าร่างพ.ร.บ.ฯ ของกระทรวงไอซีที โดยร่างพ.ร.บ.ฯ
ของกระทรวงไอซีทีมีบทกำหนดโทษเพียง 3 มาตรา อัตราโทษสูงสุด เกี่ยวข้องกับการแก้ไขข้อมูล
ซึ่งระบุว่าผู้ใดแก้ไขข้อมูลส่วนบุคคลอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3
ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนร่างพ.ร.บ.ฯของโอไอซีมีบทกำหนดโทษ 11 มาตรา
อัตราโทษอยู่ในขั้นสูง ซึ่งอัตราโทษต่ำสุดเกี่ยวข้องการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ
ซึ่งระบุว่าผู้ใดกระทำการใดๆ
เกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์อันไม่ชอบด้วยกฎหมาย
หรือให้ผู้อื่นเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนอัตราโทษสูงสุด เกี่ยวกับการฝ่าฝืนหลักการโอนข้อมูล ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน
200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

"จากบทกำหนดโทษแสดงให้เห็นว่าร่างพ.ร.บ.ฯ ของกระทรวงไอซีทีเน้น ความผ่อนคลาย
ยืดหยุ่นและให้เอกชนควบคุมดูแลการคุ้มครอง ข้อมูลส่วนบุคคลกันเอง
ส่วนร่างพ.ร.บ.ฯของโอไอซีจะเน้นการควบคุมและ ลงโทษคล้ายกับกฎหมายอาญาทั่วไป
ดังนั้นในจุดนี้ก็เป็นความแตกต่างอีกประการหนึ่งที่ คณะอนุกรรมการและคณะทำงานยกร่างฯ
ต้องหาข้อสรุปให้ได้"ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ แสดงความคิดเห็นทิ้งท้าย

ด้านนายมนู อรดีดลเชษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ หรือซิป้า
แสดงความคิดเห็นว่า คณะอนุกรรมการและคณะทำงานยกร่างฯ ต้องคำนึงผลบังคับของกฎหมายกับ
เอกชนในประเด็นต่อไปนี้ 1. ร่างพ.ร.บ.ฯจะต้องไม่เป็นปัญหาต่อการทำธุรกิจและ
ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของเอกชน 2. กฎหมายจะต้องไม่ลดความคล่องตัวในการทำธุรกรรม ทางอิเล็กทรอนิกส์ 3.
ให้ออกกฎหมายบนพื้นฐานของธุรกิจที่เจริญแล้ว และสามารถกำกับดูแลตนเองได้และ 4.
อย่าให้กฎหมายเป็นภาระและเพิ่มค่าใช้จ่ายกับเอกชน

ถือว่าเป็นข่าวดีที่มีความคืบหน้าเกี่ยวกับ "ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)
ว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลพ.ศ…" แต่นี่ยังเป็นเพียงขั้นเริ่มต้นเท่านั้น
หนทางจากนี้ยังอีกยาวไกล โดยจะเห็นได้จากกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหลายฉบับ
เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการโอนเงินทาง อิเล็กทรอนิกส์และกฎหมาย เกี่ยวกับอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
ที่ยังไปไม่ถึงไหน

เห็นที่ต้องฝากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้รีบดำเนินการเพื่อให้ "ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)
ว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล" มีผลออกมาบังคับใช้ไวๆ เพราะหากปล่อยไว้ย่อมเป็น
"อุปสรรค" ที่ทำให้การกระทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
ยังไม่กระจายไปสู่ประชาชนอย่างแพร่หลาย

 


 
เด็กผู้หญิงกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

จากการศึกษาวิจัยในประเด็นเรื่อง เด็กผู้หญิงกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยมีวัตถุประสงค์ในการศึกษาใน ๓ ประการ กล่าวคือ (๑) เพื่อศึกษาถึง สถานการณ์ ทัศนคติ อันเป็นปัญหาความเสี่ยง และ สถานการณ์ด้านโอกาสในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเด็กผู้หญิง  (๒) เพื่อวิเคราะห์ถึงแนวคิดพื้นฐาน และ มาตรการในการจัดการความเสี่ยงและการเพิ่มโอกาส (๓) เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงในการจัดการความเสี่ยงและการเพิ่มโอกาสในการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

ในส่วนของวิธีการในการศึกษาประกอบด้วย ๔ วิธีการ กล่าวคือ (๑) การศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้อง (๒) การจัดทำสนทนากลุ่มย่อย หรือ focus group ในกลุ่มเด็กผู้หญิง และ เด็กผู้ชาย ทั้งในเขตเมืองและนอกเมือง กล่าวคือ  จังหวัด กรุงเทพมหานคร ชลบุรี ระนอง และ เชียงราย (๓) การสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดการปัญหา ทั้งจากภาครัฐ ภาควิชาการ และ ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง และ (๔) การเก็บข้อมูลจากการสำรวจผ่านระบบเครือข่ายสังคมออนไลน์

ผลการศึกษาพบว่า สถานการณ์ทั่วไปเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของเด็กมีด้วยกัน ๓ ลักษณะ กล่าวคือ อินเทอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ และ เกมคอมพิวเตอร์

ในแง่ของลักษณะในการใช้งาน เมื่อเปรียบเทียบระหว่างเด็กผู้หญิงในเขตเมืองและนอกเมืองมีความแตกต่างกัน กล่าวคือ ในเขตนอกเมือง กล่าวคือเชียงรายและระนอง จะมีอัตราส่วนในการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่มากที่สุด รองลงมาคือ อินเทอร์เน็ต และ เกมคอมพิวเตอร์ ในขณะที่เขตในเมือง มีการใช้งานอินเทอร์เน็ต มากที่สุด รองลงมาคือ โทรศัพท์เคลื่อนที่ และ เกมคอมพิวเตอร์

จากการศึกษา ได้สังเคราะห์แนวคิดพื้นฐานในการจำแนกปัญหาความเสี่ยงและโอกาสด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารโดยจำแนกได้เป็น ๓ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) เนื้อหาของสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (๒) พฤติกรรมในการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และ (๓) วัฒนธรรมในการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร


ในส่วนความเสี่ยงจากการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยจำแนกตามช่วงวัย พบว่า

            (๑) ในส่วนของอินเทอร์เน็ต ในช่วงของวัยเด็กผู้หญิง ปัญหาความเสี่ยงจากเนื้อหาในการเข้าถึงสื่อที่ผิดกฎหมาย และ สื่อที่ไม่เหมาะสมกับวัย โดยเฉพาะในเรื่องของเนื้อหาทางเพศ เป็นปัญหาความเสี่ยงมากที่สุด รองลงมาก็คือ

            (๒) ปัญหาในเชิงวัฒนธรรมในการใช้งาน ที่เกี่ยวกับการใช้มากจนอาจถึงขั้นการติดเกม ติดอินเทอร์เน็ต ซึ่งพบได้น้อยกว่าในกลุ่มเด็กผู้ชาย ในขณะที่

            (๓) ในกลุ่มเด็กวัยรุ่นผู้หญิง ปัญหาความเสี่ยงจากพฤติกรรมในการใช้งาน เป็นปัญหาความเสี่ยงในลำดับต้นๆ กล่าวคือ การออกไปพบกับคนแปลกหน้าที่ได้รับการติดต่อจากการสนทนาออนไลน์ การถูกล่อลวง การถูกนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ในทางมิชอบ โดยเฉพาะ ในเว็บไซต์ลามกอนาจาร รวมทั้ง การถูกหมิ่นประมาทให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ในขณะที่

            (๔) เด็กผู้หญิงในเขตนอกเมือง ที่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่มากกกว่าอินเทอร์เน็ต และ ระบบการสนทนาออนไลน์ เพราะมีความสะดวกมากกว่า โดยใช้พูดคุยกับคนแปลกหน้าที่ได้เบอร์ติดต่อจากระบบการสนทนาออนไลน์ และยังส่งผลต่อปัญหาเรื่องของค่านิยมในการเปลี่ยนเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังปัญหาเรื่องการค้าประเวณี และ ปัญหาเรื่องการค้ายาเสพติด

ด้านการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พบว่า

         (๑) เด็กผู้หญิงและวัยรุ่นหญิงทั้งในเขตเมืองและนอกเมือง ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อค้นหาข้อมูลเพื่อการศึกษาและการเรียนรู้ภายใต้กิจกรรมด้านการศึกษาที่ได้รับมอบหมาย ทั้งในระบบการเรียนการสอนในห้องเรียน และ ระบบการทำงานกิจกรรมนอกห้องเรียน

        (๒) ส่วนของโอกาสในเชิงพฤติกรรมจากการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในกลุ่มเด็กผู้หญิงและวัยรุ่นหญิงทั้งในเขตเมืองและนอกเมือง มีการใช้อินเทอร์เน็ต โทรศัพท์เคลื่อนที่ เกมคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสาร ทั้งยังใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยี และ ทักษะทางภาษาในการติดต่อสื่อสารกับเพื่อนต่างชาติ ไม่เพียงเท่านั้น

        (๓) ในด้านวัฒนธรรมในการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มีกลุ่มเด็กผู้หญิงในเขตนอกเมืองและในเมือง กล่าวคือ เชียงรายและชลบุรี มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นเครื่องมือในการพัฒนาความรู้ให้กับตนเอง รวมทั้ง ชุมชน และ ใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนสังคม ยกตัวอย่างเช่น นักข่าวพลเมืองประจำท้องถิ่น การจัดทำเว็บไซต์เพื่อการศึกษา และ เพื่อเศรษฐกิจชุมชน กิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่ทำให้เด็กได้รับการพัฒนาศักยภาพของตนเองโดยใช้เครื่องมือด้านไอซีที

เมื่อศึกษาลงลึกถึงปัจจัยสำคัญในการเข้าสู่ความเสี่ยงและการใช้โอกาส พบว่ามีปัจจัยสำคัญอยู่ ๕ ประการ กล่าวคือ

           ประการที่ ๑ ตัวเด็กเอง ว่าเป็นเด็กผู้หญิงนั้นมีภูมิคุ้มกันในการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมากน้อยเพียงใด 

           ประการที่ ๒  บุคคลรอบข้าง ทั้ง พ่อแม่ ครู หรือ พี่เลี้ยง ว่ามีความเข้าใจ และมีบทบาทในการคุ้มครองและสนับสนุนมากน้อยเพียงใด 

          ประการที่ ๓  มีการเปิดพื้นที่ และ โอกาสให้เด็กได้แสดงความสามารถและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการพัฒนาและสร้างระบบการคุ้มครองระหว่างเครือข่ายเด็กด้วยกันเองมากน้อยเพียงใด

          ประการที่ ๔  มีการสนับสนุนเครื่องมือในการทำงาน และ ความรู้ในการใช้งานไอซีที อย่างถูกต้องหรือไม่ และ

         ประการที่ ๕ ระบบการจัดการกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด

พบว่า มาตรการในการจัดการเพื่อจัดการความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสในการใช้ประโยชน์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สามารถจำแนกได้เป็น ๓ ส่วนกล่าวคือ

            ส่วนแรก การจัดการความเสี่ยงหรือเพิ่มโอกาสก่อนที่เด็กจะเข้าบริโภคสื่อ ทั้งเรื่อง กติกาพื้นฐานในการใช้งาน การจัดระดับความเหมาะสมของสื่อ และ เครื่องมือหรือเทคโนโลยีในการกลั่นกรองเนื้อหาเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม

           ส่วนที่สอง การจัดการความเสี่ยงหรือเพิ่มโอกาสในขณะที่เด็กเข้าใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวคือ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล การสร้างการเรียนรู้เท่าทันสื่อ การสร้างวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในการใช้สื่อใหม่ อีกทั้ง การส่งเสริมเนื้อหาเพื่อการศึกษาและการเรียนรู้ในระบบสารสนเทศและการสื่อสาร และ

           ส่วนที่สาม การจัดการความเสี่ยงหรือเพิ่มโอกาสหลังจากที่เด็กบริโภคสื่อ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาการติดเกม ติดอินเทอร์เน็ต และ การดำเนินคดีกับผู้ละเมิดต่อเด็กที่เข้าไปใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

ซึ่งมาตรการในทั้งสามลักษณะนั้นพบอุปสรรคสำคัญใน ๓ ประการ กล่าวคือ (๑) น้ำหนักของการจัดการเน้นการปราบปรามด้านความเสี่ยงมากกว่าการสร้างความเข้มแข็งและการเพิ่มโอกาสในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (๒) การขาดความต่อเนื่องในการจัดการ (๓) ขาดการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ และ ความไม่เพียงพอของกฎหมาย โดยเฉพาะเรื่องของ กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และ กฎหมายที่เกี่ยวกับการส่งเสริมด้านโอกาสในการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

จากการศึกษาได้บรรลุถึงข้อเสนอในการจัดการที่เป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ โดยเสนอข้อเสนอแนะหลักในเชิงเนื้อหา ๔ ประการ กล่าวคือ

       ประการที่ ๑ การจัดตั้งคณะอนุกรรมการ ภายใต้ กรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แห่งชาติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายในการจัดการความเสี่ยง

       ประการที่ ๒ พัฒนาเครือข่ายเฝ้าระวังสื่อภาคประชาชน ซึ่งเป็นการพัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชนในการติดตามเฝ้าระวังและทำงานร่วมกับหน่วยงานภาคนโยบายและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง

      ประการที่ ๓  พัฒนาวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในสื่อใหม่ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็ก เยาวชน พ่อแม่ ครู และ ชุมชน

      ประการที่ ๔ ผลักดันกองทุนเพื่อพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อสนับสนุนกลไกในการพัฒนาโอกาสในการใช้สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในเชิงสร้างสรรค์

 
 ปัญหาเรื่องสื่อลามก

ปัญหาเรื่องสื่อลามกเป็นอีกหนึ่งปัญหาในบรรดาปัญหาสังคมทั้งหลายที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่ตั้งแต่อดีตมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ในอดีตสื่อลามกอยู่ในรูปของสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น หนังสือ หนังสือการ์ตูน ปฏิทิน นิตยสาร ซึ่งจะปรากฏตัวอยู่ในสถานที่เฉพาะที่ซื้อหาได้ยาก

              ในปัจจุบัน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดดทำให้ปัญหาเรื่องสื่อลามกทวีความรุนแรงมากขึ้น ทั้ง ปริมาณที่มากขึ้น เข้าถึงได้ง่ายขึ้น ที่สำคัญ มีเนื้อหาที่ท้าทายต่อการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมเชิงลบมากขึ้น

                พบว่า รูปแบบของการนำเสนอมีหลากหลายมากขึ้น เว็บไซต์ กระดานข่าว การสนทนาออนไลน์ หรือ แช็ตทำให้ผู้รับสื่อสามารถกลายเป็นผผู้ผลิตสื่อลามกได้ เช่น การอัพโหลดภาพลามกในกระดานข่าวของเว็บไซต์ต่างๆ หรือ การนำเสนอการแสดงออกเรื่องเพศที่ไม่เหมาะสมของตนเองผ่านทางโปรแกรมการสนทนาออนไลน์ ซึ่งที่นิยมอยู่ในขณะนี้ก็คือ แคมฟรอก เช่น การโชว์ลามก การโชว์อนาจารผ่านทางเว็บแคมเหล่านี้

              หรือแม้แต่ ปัญหาสื่อลามกที่ติดตามไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งเป็นการดาวน์โหลดภาพสื่อทางเพศที่ไม่สร้างสรรค์ลงบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่นับวันจะมีจำนวนมากขึ้น ประกอบกับมีการโฆษณาผ่านทางช่องทางต่างๆ มากมาย ทำให้ปัญหานี้กำลังรุกหน้ามาอย่างรวดเร็ว

              รวมไปถึง การสนทนาเรื่องเพศผ่านทางโทรศัพท์แบบออดิโอเท็กซ์ หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า เซ็กส์โฟนที่เป็นการประกอบการของบริษัทต่างๆกว่า ๑๐ บริษัท ที่มีสายเปิดให้บริการในเรื่องเพศกว่า ๑๐๐ สาย

              ไม่เว้นแม้แต่กระทั่งเกมคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะเกมออฟไลน์ ที่มีเนื้อหาเรื่องเพศที่ไม่เหมาะสม เช่น เกมลวนลาม ข่มขืน ลักหลับ ซึ่งเข้าถึงเด็ก เยาวชนได้ง่ายกว่าสื่อประเภทอื่น เพราะอยู่ในรูปของเกมที่ได้รับการพัฒนาให้สามารถตอบโต้กับผู้เล่นเกมได้เสมือนจริง

               

                 ทั้งหมดเป็นสถานการณ์ที่สังคมไทยกำลังเผชิญอย่างหนักหน่วง

                สื่อเหล่านี้ นำมาซึ่งผลกระทบทั้งการเปลี่ยนแปลงไปซึ่งทางพฤติกรรม นำมาซึ่งปัญหาสังคมหลายประการ ทั้ง การข่มขืน ล่อลวง การเบี่ยงเบนทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะเรื่องการโชว์  อีกทั้งปัญหาด้านสาธารณสุขที่ติดตามมาภายหลังกิจกรรมทางเพศที่ได้รับการโน้มนำจากสื่อลามกเหล่านั้น ทั้งหมด กำลังบั่นทอนทรัพยากรมนุษย์ในสังคมไทย เท่ากับว่า เรากำลังถูกสื่อเหล่านี้บั่นทอนทุนของสังคมไปทีละน้อย

              ในขณะที่ เรามีกฎหมายหลักที่ใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการปัญหาก็คือ มาตรา ๒๘๗ ประมวลกฎหมายอาญา ที่มีผลต่อการจัดการต่อผู้จำหน่าย เผยแพร่ รวมทั้ง มาตรา ๑๓ แห่งพระราชบัญญัติการกระทำความเปิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งกำลังจะมีผลใช้บังคับไม่ช้านี้ ที่เป็นกฎหมายที่มีผลต่อการจัดการปัญหาเรื่องสื่อลามกในระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งต่อผู้นำสื่อลามกเข้าระบบคอมพิวเตอร์ รวมทั้ง ผู้ให้บริการที่รู้ถึงการกระทำและไม่ลบข้อมูลออกจากระบบในทันที ทั้งหมดเป็นกฎหมายเพื่อการปราบปราม

                จำเป็นอย่างย่งที่จะต้องมีการเพิ่มเติมให้เกิดสื่อทางเพศในเชิงสร้างสรรค์ เพื่อให้มนุษย์ได้เรียนรู้เรื่องเพศอย่างถูกต้อง อันเป็นการเพิ่มทุนทางปัญญาให้กับสังคม กลับพบว่า เราแทบไม่มีกฎหมายหรือนโยบายเพื่อเอื้อต่อการสนับสนุนให้เกิดสื่อทางเพศในเชิงสร้างสรรค์ หรือแม้แต่ การสนับสนุนให้เกิดการร่วมทุนทางสังคม เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับแหล่งของการเข้าถึงสื่อ เช่น ร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ ห้างสรรพสินค้าต่างๆ ดูเหมือนว่า จะเป็นมาตรการที่ยังไร้ร่องรอย

                   ในวันนี้นอกจากมาตรการด้านการปราบปรามสื่อลามกแล้ว มาตรการในส่งเสริมให้เกิดสื่อทางเพศในเชิงสร้างสรรค์ ในรูปของกฎหมายหรือนโยบายที่ส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดแรงจูงใจในการ ผลิตสื่อสร้างสรรค์ การส่งเสริมให้เกิดพื้นที่สร้างสรรค์ การสนับสนุนให้เกิดการรวมตัวและสร้างจริยธรรม ความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบการ ล้วนเป็นการลงทุนสร้างสังคมที่เข็มแข็งในระยะยาว ทั้งหมด คงต้องเร่งสร้างให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ก่อนที่ทุนทางสังคม ทุนทางทรัพยากรมนุษย์ ทุนทางวัฒนธรรม ที่มีอยู่ จะเลือนหายไปจากสังคมไทย

 

 

            จริยธรรมวิชาชีพผู้ดูแลเว็บไทย


 

            องค์กรภาคเอกชนที่กิดขึ้นจากการรวมตัวของเอกชนที่เกี่ยวกับไอซีทีหลักๆมี ๒ กลุ่ม กล่าวคือ สมาคมผู้ดูแลเว็บ และ สภาวิชาชีพผู้ดูแลเว็บไทย

โดยที่ สมาคมผู้ดูแลเว็บ มีวัตถุประสงค์การจัดตั้งสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย  มีดังนี้
1. เป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ความคิดเห็น ระหว่างสมาชิก และส่งเสริมการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาและวัฒนธรรม 2. ปกป้องและคุ้มครองสมาชิกของสมาคมผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ 3.ส่งเสริมและวิชาชีพผู้ดูแลและพัฒนาเว็บ และยกระดับสมาชิกของสมาคมให้สูงขึ้นทั้งด้านเทคโนโลยี สารสนเทศ ด้านวิชาการ และจริยธรรม 4. เป็นคนกลางเพื่อประสานงานให้เกิดผลที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาของสังคมสารสนเทศ รวมทั้งคุ้มครองผู้บริโภคด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ 5. ผดุงไว้ซึ่งมาตรฐานอันดีงามและการบำเพ็ญตนของสมาชิกให้เป็นไปตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ 6. ส่งเสริมความสามัคคี ภราดรภาพ และกิจกรรมสาธารณะกุศลในหมู่สมาชิก

ส่วน สภาวิชาชีพผู้ดูแลเว็บไทย เกิดขึ้นในภายหลัง มีวัตถุประสงค์หลักในเรื่องของ หลักจริยธรรม การส่งเสริมวิชาชีพ การทำงานในด้านกฎหมาย

ธรรมนูญสภาวิชาชีพผู้ดูแลเว็บไทย พ.ศ.๒๕๔๖
      โดยที่เห็นเป็นการสมควรให้จัดตั้งสภาวิชาชีพผู้ดูแลเว็บไทย ขึ้นในประเทศไทย ให้เป็น องค์กรอิสระทำหน้าที่ควบคุมกันเองในหมู่ผู้ประกอบวิชาชีพผู้ดูแลเว็บไทย เพื่อส่งเสริมเสรีภาพ ความรับผิดชอบ สถานภาพผู้ประกอบวิชาชีพและกิจการเว็บไทย ตลอดจนส่งเสริมสนับสนุนสิทธิการใช้เว็บไซต์เพื่อ การรับรู้ข่าวสาร และการแสดงความคิดเห็นของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้เว็บไซต์ทำหน้าที่ให้การศึกษาแก่ประชาชน รวมทั้งยึดถือความยุติธรรม และความเที่ยงธรรมเป็นหลักในการประกอบวิชาชีพ  เจ้าของ ผู้ประกอบการ และผู้ประกอบวิชาชีพผู้ดูแลเว็บทั้งหลาย ซึ่งได้ลงท้ายธรรมนูญฉบับนี้ ได้ยินยอมพร้อมใจกันยึดถือและปฏิบัติตามธรรมนูญสภาวิชาชีพผู้ดูแลเว็บไทยทุกประการ จึงให้ตราธรรมนูญสภาวิชาชีพผู้ดูแลเว็บไทยไว้